เป็นเวลามากกว่า 35 ปีแล้วที่ของเล่นโมเดลพลาสติก (Plamo = พลาโม) หรือที่ถูกเรียกกันว่า Gunpla (กันพลา) ได้ออกวางจำหน่ายโดยบริษัทบันได (Bandai) บริษัทของเล่นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่นและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น ความนิยมนั้นก็ไม่เคยลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ของเล่นชนิดนี้ได้รับความนิยมกันนะ?
เชื่อกันว่าประวัติศาสตร์ของโมเดลพลาสติกหรือกันพลา เริ่มต้นขึ้นจากบริษัท Frog ในประเทศอังกฤษได้ออกวางจำหน่าย Plamo Series นกเพนกวิน Scale ขนาด 1/72
ปี ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) SSN-571 NAUTILUS
เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้า Gunpla เริ่มมีการขยายตัวเข้าไปในประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น ด้วยความที่อยู่ในสภาวะสงครามทำให้ช่วงแรกของเล่นจำลองแบบพวกนี้จึงได้ต้นแบบมาจากของเครื่องบิน, เรือรบและรถถัง เมื่อสงครามสงบลง ได้มีการแข่งขันรถซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น Plamo ที่จำลองแบบมาจากรถแข่งทั้งหลายจึงได้รับความนิยมตามมา และ บริษัท Bandai เองก็เป็นบริษัทที่เกิดจากการผลิต Plamo รถแข่งแบบนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับวงการพลาสติกโมเดลในญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อทางบริษัท Marusan เริ่มวางจำหน่ายพลาสติกโมเดลชุดจำลองเรือดำน้ำ Scale ขนาด 1/300 SSN-571 NAUTILUS

ปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) Super Robot Tetsujin 28 Go
บริษัท Marusan เป็นสปอนเซอร์ให้กับการ์ตูนเรื่อง Riku to Umi to Sora to (ผืนดิน ผืนน้ำและแผ่นฟ้า) ทำให้โมเดลพลาสติกเริ่มได้รับความนิยมจนกลายเป็นงานอดิเรกแบบใหม่

ส่วนโมเดลพลาสติกที่จำลองแบบมาจากสินค้า Character ตัวแรกนั้นแน่นอนว่าจะต้องเริ่มต้นมาจาก Plamo Super Robot ตัวแรกอย่าง Tetsujin 28 Go (หุ่นเหล็กหมายเลข 28) ของบริษัท IMAI (ปัจจุบันถูกบริษัท Aoshima ซื้อกิจการไปแล้ว)

หลังจากวางจำหน่ายก็ทำให้สินค้า Plamo ที่มาจาก Character ที่ออกฉายทางทีวีตามออกมาอีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนูอะตอม, ธันเดอร์เบิร์ด ฯลฯ

ปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) บริษัท IMAI จ้างให้โรงงานของ Bandai ผลิตสินค้า Re-Products
สินค้า Plamo ได้รับความนิยมมากแต่บริษัท IMAI นั้นกลับเกิดปัญหาในการจัดการภายในจนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการ จึงได้ว่าจ้างให้โรงงานของ Bandai ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) ที่ Shizuoka เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตสินค้า Re-Products ให้ ซึ่งเดิมทีแล้วทาง Bandai ไม่ได้เคยมีความสนใจในโมเดลจาก Character เลยแม้แต่น้อย จนเมื่อทาง IMAI ได้มาว่าจ้างให้ทำการผลิต Bandai จึงได้โอกาสทำการศึกษาตลาดพร้อมกับพัฒนาสินค้าของตัวเอง
ปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) Thunderbird และ Masked Rider
บริษัท Bandai มีโอกาสได้ติดชื่อไปกับสินค้าของทาง IMAI ซึ่งตอนนั้นขายสินค้า Plamo จากชุด Thunderbird ได้ถล่มทลาย ส่งผลให้ผลประกอบการของ Bandai ดีขึ้นมากจนถึงขนาดในปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) นั้นสามารถจดทะเบียนกลายเป็นรูปแบบบริษัทจำกัดได้ หลังจากบริษัทกลายเป็นรูปเป็นร่าง Bandai ก็เร่งผลิตสินค้า Plamo จาก Character ออกมาอีกมากมายจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะกับสินค้าชุด Thunderbird และ Masked Rider ที่เปิดตัวในช่วงนั้นพอดี

ปี ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) เรือรบอวกาศยามาโตะ
เกิดกระแสนิยมในเรื่อง เรือรบอวกาศยามาโตะ ฮิตถล่มทลายมากในญี่ปุ่น จึงทำให้มีการผลิต Plamo ใน Series Mechanic Collection ออกมาเพื่อตอบสนองแฟนๆ ที่ต้องการ Plamo ที่มีรายละเอียดมากยิ่งกว่าชุด Image Model ที่ออกมาก่อนหน้านี้

ปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) Gunpla NON-SCALE
Mobile Suit Gundam ได้ฉายจบทั้งตอนที่ 42 ตอนทาง Bandai ก็ประกาศที่จะนำ Character หุ่นยนต์ใน Animation ดังกล่าวมาผลิตเป็นของเล่นใน Series Mechanic Collection เช่นกันและที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือจะเป็น Plamo จากหุ่นยนต์เรื่องแรกที่มีการคำนึงถึงเรื่อง Scale ด้วยหลังจากที่ผ่านมานั้นของเล่น Plamo ที่ถอดแบบมาจาก Animation นั้นจะออกมาในรูปแบบ NON-SCALE ทั้งหมด (ไม่สามารถวัดค่าความสูงได้จริง) ในเดือนกรกฏาคมปีเดียวกันนั้นเองสินค้า Mechanic Collection อันดับที่ 4 ขนาด Scale 1/144 ของ RX-78-2 Gundam ก็ออกวางจำหน่าย และในเดือนเดียวกันนั้นเองเพื่อเป็นการเปิดทางสู่ของเล่น Series ใหม่ ทาง Bandai ก็ได้ออกวางจำหน่าย Plamo ของกันดั้มที่เรียกได้ว่าเป็นกันพลาตัวแรกของโลกด้วย Scale ขนาด 1/100 ที่ใหญ่และสวยยิ่งกว่าเดิมและ Scale 1/100 ก็ยังกลายเป็น Scale มาตรฐานต้นแบบให้กับการออกหุ่นใน Series อื่นๆ เช่น Xabungle และ Godzigma อีกด้วย ส่วนข้อเท็จจริงในการที่ต้องออกเป็น Scale 1/100 นั้นก็เพราะทาง Bandai มี Concept ว่าต้องการให้ Gunpla ชุดดังกล่าวนั้นสามารถแยกชิ้นส่วนคอร์ไฟเตอร์ รวมถึงสามารถเล่นประกอบร่างได้จริงนั่นเอง

ปี ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) พลาโมเคียวชิโร่
เมื่อมีการนำเอากันดั้มกลับมาตัดต่อใหม่เป็นรูปแบบภาพยนตร์จอเงิน กระแสความนิยมในกันพลา ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากกว่าเดิม จนเมื่อทางสำนักพิมพ์โคดันฉะ ลงตีพิมพ์การ์ตูนเรื่อง พลาโมเคียวชิโร่ ในนิตยสาร BON BON ซึ่งเป็นเรื่องราวของเหล่าเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบในกันพลาก็ทำให้เกิดเหล่าโมเดลเลอร์ซึ่งนิยมนำเอากันพลามาตกแต่งตามจินตนาการของตัวเองมากยิ่งขึ้น

ปี ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) Gunpla MSV (Mobile Suit Variation) Gunpla
เมื่อไม่มีทั้งภาพยนตร์และการ์ตูนเกี่ยวกับกันดั้มออกมา แถมรวมทั้ง Mobile Suit และ Mobile Armour ที่ปรากฏตัวออกมาก็มีรวมกันเพียงแค่ 23 แบบเท่านั้น ความคิดที่ว่า กันดั้มไม่จำเป็นต้องมาจาก Animation หรือการ์ตูนเสมอไป ก็อุบัติขึ้นกลายเป็น MSV (Mobile Suit Variation) Gunpla ที่เกิดขึ้นจากการแต่งเสริมเรื่องราวที่ขาดหายไป หรือไม่ได้พูดถึงในภาคทีวี โดยสินค้า 4 ชุดแรกอันได้แก่ EMS-05 Agg, MSM-04G Juagg, MSM-04N Agguguy, MSM-08 Zogok ที่แต่งเสริมเรื่องราวมาจากตอนที่พวกกองทัพซีออนบุกฐานจาโบรของกองทัพโลก ก็ออกวางจำหน่าย พร้อมกับมีการลงเรื่องราวในหนังสือ Bon Bon เพื่อให้คนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมถึงมีการออกชิ้นส่วนเสริม เช่น อาวุธ เพื่อใช้เล่นกับ Gunpla ชุดที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ด้วย แน่นอนว่าสินค้าชุด MSV นี้ประสบความสำเร็จมาก และว่ากันว่าสินค้าที่ถือว่าเป็นสุดยอดที่สุดในชุด MSV นั้นก็คือ 1/100 Perfect Gundam ซึ่งเป็น Gunpla ที่ตัวเอกในเรื่อพลาโมเคียวชิโร่ใช้นั่นเอง


ปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) Gunpla SD Gundam (Super Deformation Gundam)
บริษัท Bandai และ Sunrise สตูดิโอผู้ผลิต Animation ชุดนี้อย่างแท้จริง เมื่อ Mobile Suit Z Gundam ออกฉายในเดือนมีนาคมทาง บริษัท Bandai ก็ไม่รอช้าในเดือนเมษายน ก็ออกวางจำหน่าย Plamo ขนาด 1/144 ของ RX-178 GUNDAM Mk-II และ Hi-Zack ซึ่งเป็น Mobile Suit ที่ปรากฏตัวในช่วงต้นเรื่องทันที ซึ่งรูปแบบการวางจำหน่าย Plamo เมื่อมี Mobile Suit ปรากฏตัวในทีวีแบบนี้ก็ยังถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน จึงไม่แปลกเลยที่เราจะหาซื้อ Plamo ของ Mobile Suit ตัวที่ชอบได้ทันทีที่มันปรากฏตัวบนจอโทรทัศน์ ดังที่คุณเห็นอยู่ทุกวันนี้

แม้ว่า บริษัท Bandai จะเติบโตขึ้นจากการขาย Plamo ของกันดั้มแล้วก็ตาม แต่ว่าบริษัทคู่แข่งอย่าง TAKARA (ปัจจุบันคือ TAKARA TOMY) ซึ่งยังมีสิทธิในการผลิตสินค้าจาก Animation ของสตูดิโอ Sunrise ก็ได้เปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง ChoroQ Dagram ซึ่งเป็น Mascot ขนาดย่อส่วนจาก Animation เรื่อง Taiyo no Kiba Dagram

บริษัท Bandai เองก็สนใจที่จะนำเอา Character กันดั้มของตัวเองมาย่อส่วนลงเพื่อออกวางจำหน่ายบ้าง ทำให้เกิดกลายมาเป็น Super Deformation Gundam หรือ SD Gundam อยู่ทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ดีสินค้าที่ออกเกี่ยวกับ SD Gundam อันแรกนั้นไม่ใช่ Gunpla แต่ว่าเป็นกาชาปอง (ของเล่นไข่หมุน) ชุด SD Gundam World ซึ่งภายหลังก็มีการนำเอาไปทำเป็นเกมบนเครื่อง Famicom อีกด้วย

ปี ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) Gunpla 1/144 Full Armor ZZ Gundam
หลังจากการฉายจบลงของ Mobile Suit Gundam ZZ ซึ่งได้รับความนิยมน้อยกว่า Z Gundam ประกอบกับทางโทรทัศน์ก็เต็มไปด้วยอนิเมหนังหุ่นยนต์มากมาย จนหลายคนคิดว่ายุค Gunpla นั้นน่าจะจบลงซะแล้ว นิตยสาร Model Graphix รายเดือน ก็ได้เปิดตัวนิยายชุด Gundam Sentinel ด้วยเนื้อเรื่องอันสุดยอดของคุณมาซายะ ทาคาฮาชิ ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Series กันดั้ม ประกอบกับผลงานแมคคานิคดีไซน์ที่เปลี่ยนโลกของ Gundam ให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ของคุณคาโตกิ ฮาจิเมะ ก็ทำให้ Series นี้ฮิตระเบิดจนทาง Bandai ต้องออกของเล่นอย่าง 1/144 Full Armor ZZ Gundam ตามออกมาในแทบจะทันที ซึ่งความดังของเรื่องนี้อาจจะทำให้หลายคนจำได้มากกว่าที่จะจำได้ว่าสถานการณ์ในนิยายของเรื่องนี้ดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับ Gundam ZZ ซึ่งไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไหร่ซะด้วยซ้ำ

ปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) Mobile Suit Gundam: Char’s Counterattack
เมื่อมีการฉายอนิเมะภาคปิดศักราช UC (Universal Century) อย่าง “โมบิลสูทกันดั้ม – การโต้กลับของชาร์” (Mobile Suit Gundam: Char’s Counterattack) ทำให้การผลิตกันพลาก้าวเข้าสู่ยุคของการใช้การประกอบแบบ “สแนป ฟิต” หรือ “เดือยประกบ” ไม่จำเป็นต้องใช้กาวในการประกอบกันพลาอีกต่อไป ซึ่งเป็นอะไรที่แหวกแนวและเจ๋งมากๆ ในยุคสมัยนั้น จัดได้ว่าเป็นมิติใหม่ในการประกอบกันพลาเลยก็ว่าได้ แต่ในทางกลับกันจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับทีมออกแบบของเล่นมากพอสมควร

เรื่องราวของ SD Gundam ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้นเมื่อได้มีการนำเอา Musha Gundam ซึ่งเป็นซามูไรกันดั้มที่เคียวชิโร่ ตัวเอกจากเรื่องพลาโมเคียวชิโร่ใช้ในการ์ตูนมาทำเนื้อเรื่องแยกเป็นเอกเทศของตัวเอง และเขียนเป็นการ์ตูนลงตีพิมพ์ในนิตยสาร BON BON ของสำนักพิมพ์โคดันฉะ จนทำให้ในเดือนธันวาคม ได้เกิด Plamo ของ SD Gundam ตัวแรกก็ได้ออกวางจำหน่ายซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องเป็น Musha Gundam นั่นเอง โดย Plamo ดังกล่าวนั้นใช้ชื่อสินค้าว่า BB Senshi ซึ่ง BB นั้นเป็นคำที่ได้มาจากกระสุน BB ของปืนอัดลมนั่นเอง

ปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) Poly Joint
วงการ Animation เริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองเมื่อมี OVA (Original Video Animation) กำเนิดขึ้นมา เหล่า ครีเอเตอร์หน้าใหม่กำเนิดขึ้นมากมายพร้อมกับงานที่หลากหลาย แต่ในยุคนี้อนิเมะหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดไม่ใช่กันดั้ม แต่ว่าเป็น Mobile Police Patlabor ซึ่งมีทั้งฉบับการ์ตูน อนิเมะ TV Series OVA รวมถึงหนังโรง ดังนั้นเพื่อให้เข้ากระแสและสานต่อชื่อของกันดั้มจึงได้มีการตกลงที่จะทำ OVA ชุด Mobile Suit Gundam : War in the Pocket ขึ้นมาเพื่อสนองแฟนๆ ของภาคก่อนๆ เพราะเป็นการหยิบเอาเรื่องราวจากภาคแรกสุดมาทำเป็นไซด์สตอรี่ โดยเพิ่ม Mobile Suit อย่าง Gundam NT-1 Alex และ Kampfer เข้าไปใหม่ ในขณะที่ Mobile Suit ตัวอื่นก็ถูกนำกลับมาจับปัดฝุ่นออกแบบใหม่โดยคุณยูทากะ อิซูบุจิ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ Mechanic Design ให้กับแพทเลเบอร์นั่นเอง แน่นอนว่าทาง Bandai ก็ทยอยออกสินค้าจาก OVA ชุดนี้ออกมาเรื่อยๆ ตามสูตร แต่อย่างไรก็ดีสำหรับในแง่ของ Plamo แล้ว ส่วนที่น่าพูดถึงก็คือเรื่องเทคนิคในการประกอบที่เข้ามาใหม่อย่าง Poly Joint ซึ่งทำให้แม้แต่ กันพลา Scale 1/144 อย่าง NT-Alex นั้นสวมชุดเกราะ Mobile Armour ถอดเข้าถอดออกได้อย่างสมบูรณ์และก็ยังคงใช้มาเรื่อยจนถึงทุกวันนี้

ปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) ฉลอง 10 ปีของบริษัท Bandai
เพื่อฉลองครบรอบการวางจำหน่ายมาอย่างยาวนานถึง 10 ปีของ บริษัท Bandai จึงได้มีความคิดที่จะปรับปรุงรูปแบบการผลิตของกันพลา ขึ้นมาใหม่ ด้วยความรู้และความสามารถที่มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงมีการพัฒนาเทคนิคในการประกอบ และการขึ้นแบบที่ทำให้กันพลานั้นดูดียิ่งกว่าเดิมมาก ทางบริษัท Bandai จึงได้เลือกที่จะนำเอา Gunpla ชุดของ Mobile Suit Gundam และ Mobile Suit Z Gundam มาทำการ Remake ออกใหม่ใน Series HG ที่ย่อมาก High Grade ในขนาด Scale 1/144 และแน่นอนว่าสินค้าที่ออกมาตัวแรกก็ยังคงเป็น RX-78-2 Gundam Mobile Suit ตัวแรกที่เคยออกวางจำหน่ายเมื่อ 10 ปีก่อน จากนั้นก็ตามด้วยการออกสินค้ากันดั้มภาคอื่นๆ ทยอยตามออกมา ซึ่งปัจจุบันกันพลา Series HG นั้นก็ยังคงออกวางจำหน่ายในตลาดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน กลายเป็นแบรนด์สินค้ากันพลารูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก

ไลน์ HG คือไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยราคาและความสวยงาม สอดคล้องกับตัวอนิเมะที่กำลังฉายในขณะนั้น
ปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) Mobile Suit Gundam F91 และ OVA ชุด Mobile Suit Gundam 0083 Star Dust Memory
แนวทางในการทำ Series กันดั้มยุคใหม่ ก็ถูกเปิดขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อทางบริษัท Bandai ตัดสินใจที่จะเปิดตัว Series กันดั้มถึง 2 เรื่องควบคู่กัน โดยมีทั้งภาพยนตร์จอเงินอย่าง Mobile Suit Gundam F91 และ OVA ชุด Mobile Suit Gundam 0083 Star Dust Memory ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการฉาย Gundam F91 ผลงานฉบับนิยายและการ์ตูนของ Mobile Suit Gundam F90 ก็ดำเนินหน้าไปก่อนแล้ว และเป็น Series ของ F90 นี่เองที่เป็นต้นแบบ Concept ของกันดั้มในปัจจุบันที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ เนื่องจากแต่ดั้งเดิมนั้นหุ่นยนต์ใน Series นี้จะถูกเรียกรวมว่า Formula Project ซึ่งเน้นการออกแบบหุ่นน้ำหนักเบาที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนเพื่อใช้ตามแต่ละสถานการณ์ได้ และในตัวต้นฉบับของ F90 เองก็มีชิ้นส่วนให้เลือกเปลี่ยนได้มากถึง 26 แบบตามตัวอักษรภาษาอังกฤษไล่ไปจาก A-Z นั่นเอง แต่ทางบริษัท Bandai เองก็ไม่เคยออกกันพลา ชิ้นส่วนเสริมของ F90 ได้ครบ มีเพียงแค่ 6 แบบเท่านั้นที่ออกมาวางจำหน่ายจริง นอกจากนี้แล้วในปีนี้ก็ยังมีการออกสินค้าชุด Scale 1/60 ของ Gundam F91 หลังจากที่ไม่เคยออกวางจำหน่ายกันพลา ใน Scale นี้มานานถึง 6 ปีแล้วด้วย

ปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) V Frame
บริษัท Bandai ก็เริ่มผลงาน Animation ทีวี Series ของกันดั้มใหม่หลังจากไม่เคยฉายมานานถึง 7 ปีด้วย Mobile Suit V Gundam ในส่วนของกันพลานั้น สินค้าชุด 1/144 Victory Gundam ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคมนั้นก็เป็นกันพลาตัวแรกใน Scale 1/144 ที่มีการใส่ V Frame (ถือว่าบรรพบุรุษของการสร้าง MG และ RG ในเวลาต่อมา) ซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำหน้าที่แทน Poly Joint ทำให้ตัวกันพลา นั้นสามารถโพสท่าได้หลากหลายมากขึ้น และเนื่องจากการที่ Victory Gundam นั้นเป็นหุ่นที่สามารถแยกร่างได้ทำให้ความสามารถในการแยกร่างนั้นจะมีอยู่เฉพาะในกันพลา Scale 1/100 ซึ่งออกเป็นสินค้าแบบ HG เท่านั้น

ปี ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) Polycap
การฉลองโปรเจคครบรอบ 15 ปีของ Animation กันดั้ม ทาง Sunrise จึงได้ไปจ้างให้ผู้กำกับคุณอิมากาว่า ยาซึฮิโร่ ซึ่งตอนนั้นโด่งดังจากการกำกับ OVA ชุด Giant Robo และ TV Series ชุด Mister Ajiko มาเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ของกันดั้ม ซึ่งคุณอิมากาว่ามองเห็นว่าเรื่องราวแนวทหารในโลกของกันดั้มเดิมนั้นหนักเกินไป เขาจึงคิดจะเปลี่ยนให้เรื่องการต่อสู้กันของกันดั้มเป็นเหมือนเกมซึ่งวัยรุ่นสมัยนั้นชอบมากกว่า ผลที่ได้ก็คือ Mobile Fighter G Gundam กันดั้มที่แหวกแนวมากที่สุดจากทุก Series ทั้งเนื้อหาและการดีไซน์ที่เปลี่ยนให้กันดั้มเป็นเหมือนนักสู้ตัวแทนแต่ละประเทศมาต่อสู้กัน แทนที่จะเป็นเรื่องของกองทัพต่อกองทัพแทน ในแง่ของการผลิต Plamo ก็มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่ากันพลาในชุดของ G Gundam นี้ต้องอาศัยการโพสท่าที่มากกว่าเดิม ทำให้ระบบ V Frame ที่เคยใช้ใน V Gundam ต้องยกเลิกเปลี่ยนเป็นแบบ Polycap แทน ซึ่งมาตรฐานการใช้การเชื่อมต่อแบบ Polycap นี้จะถูกใช้ไปจนถึง Gundam Wing และ Gundam X เลยทีเดียว อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องของการออกชุด Grade Up Set ซึ่งเป็นชิ้นส่วนเสริมสำหรับเปลี่ยนให้กันพลา Scale 1/144 ของ G Gundam สามารถแสดงท่าไม้ตายออกมาได้นั่นเอง นอกจากนี้ผลงาน Plamo Scale 1/100 แบบ HG ของชุด G Gundam นี้ก็มีรายละเอียดรวมถึงลูกเล่นมากพอที่จะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับชุด MG ที่จะเปิดตัวในปีถัดไปเลยทีเดียว

ปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) Gunpla MG (Master Grade)
Series Gundam มีฉายมาอย่างต่อเนื่องทำให้กระแสของ Gunpla กลับมาอีกครั้งในหมู่เด็กๆ โดยเฉพาะกับการฉายของ New Mobile Report Gundam Wing ซึ่งนำเนื้อเรื่องเกี่ยวกับแนวกองทัพกลับมาใช้อีกครั้ง แต่คราวนี้เพิ่มเติมความเป็น Idols เข้าไปด้วยการกำหนดให้ตัวเอกที่ขับกันดั้มมีมากถึง 5 คน ทำให้ไม่แปลกที่คนจะเลือกซื้อกันดั้มทีละหลายๆ ตัว แทนที่จะต้องซื้อเพียงแค่ตัวเอกตัวเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่สำหรับนักเล่นมืออาชีพแล้วก็ไม่รู้สึกพอใจกับสินค้าที่เป็นอยู่ในตอนนี้มากนัก แถมกระแสของการเล่นโมเดลนั้นก็หันเหไปทางงานแบบการาจคิท (Garage Kit) เพิ่มขึ้นด้วย บริษัท Bandai จึงได้จับมือร่วมกับทางนิตยสาร Hobby Japan เพื่อช่วยในเรื่องการออกแบบสินค้าตัวใหม่ซึ่งมีสัดส่วนที่สมจริงและถูกใจคนเล่นโมเดลยิ่งกว่าเดิม จนในงาน JAF CONIII ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ก็ได้มีการประกาศเปิดตัว Gunpla Series ใหม่ที่ถูกเรียกว่า MG (Master Grade) ขึ้นเพื่อฉลองการครบรอบ 15 ปีของการวางจำหน่าย Gunpla ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยการออกแบบต้นแบบของ Gunpla ด้วย 3DCAD ทำให้ Gunpla Series MG ออกมาสวยงามและทำให้นักเล่นซึ่งมีอายุและเติบโตมากับการซื้อ Gunpla ในสมัยก่อนเปลี่ยนมาเล่น Gunpla Series นี้แทบจะทันที

ปี ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) Gunpla Limited Model (LM)
เป็นปีที่แฟนๆ Series กันดั้มยุคใหม่อาจจะไม่อยากจำกันมากนักเนื่องจากการที่ After War Gundam X ซึ่งออกฉายในปีนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จซักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบกันดั้มภาคเก่านั้น OVA ชุด Mobile Suit Gundam MS08th Team ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว ส่วนในแง่ของ Plamo นั้นปีนี้สินค้าที่ออกใหม่ก็มีเพียงแค่ Series Limited Model (LM) ซึ่งเป็น Plamo ที่ออกมาแบบเฉพาะกิจสำหรับ Mobile Suit หรือพาหนะที่ดูแล้วไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก หรือ ออกให้กับอนิเมะเรื่องอื่นไปเลยอาทิเช่น อีวานเกเลี่ยนเป็นต้น ซึ่งภายหลัง Series LM นี้ก็จะพัฒนากลายเป็น EX Model ในภายหลัง


ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) New Mobile Report Gundam Wing Duel Story G-Unit
บริษัท Bandai เล็งเห็นความนิยมอย่างต่อเนื่องของ Gundam Wing จึงตัดสินใจสานต่อเรื่องราวความสำเร็จของ Series นี้อีกครั้งด้วยการออก OVA ชุด Gundam Wing Endless Waltz ออกมา โดยได้ว่าจ้างให้คุณคาโตกิ ฮาจิเมะเป็นผู้นำเอากันดั้มทั้ง 5 ตัวซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องมาออกแบบใหม่ทั้งหมดซึ่งก็ทำให้เหล่าแฟนๆ นั้นพอใจกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการแตกขยายเนื้อเรื่องของ Gundam Wing ออกไปด้วยการเสริมเรื่องราวในการ์ตูนชุด New Mobile Report Gundam Wing Duel Story G-Unit ที่เขียนโดย อ. Koichi Tokita ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Bon Bon และใน Series นี้เองที่เราจะได้เห็นกันดั้มพิสดารมากมายที่แปลงร่างได้หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นไอเดียที่ควรจะทำได้เฉพาะในการ์ตูน แต่บริษัท Bandai ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำสินค้าเหล่านี้ออกมาได้จริง

ปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) Gunpla PG (Perfect Grade)
การออกฉายของ Shinseiki Evangelion กระแสของ Model Figure จาก Character พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด รวมถึงกระแสในเล่นงานอดิเรกรูปแบบอื่นๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อตอกย้ำในความเป็นผู้นำและบอกจุดยืนของตัวเองว่า การเล่น Gunpla นั้นไกลเกินกว่าที่จะเป็นเพียงแค่งานอดิเรกรูปแบบหนึ่ง และแม้คุณจะไม่ได้ดูอนิเมของกันดั้มเลยก็สนุกกับมันได้ บริษัท Bandai จึงได้ออกสินค้าที่เรียกได้ว่าเป็น Series สุดยอดกันพลาที่คู่ควรกับคำว่า “สมบูรณ์แบบ” อย่าง PG (Perfect Grade) RX-78-2 Gundam ออกมา ด้วยชิ้นส่วนมากกว่า 600 ชิ้นและ Scale 1/60 ทำให้แฟนๆ นั้นพอใจกับสินค้าชุดนี้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ในปีนี้ก็มีการออกวางจำหน่ายเกมส์ SD GUNDAM G Generation บนเครื่อง Playstation ทำให้ Plamo เกี่ยวกับ SD Gundam Series ใหม่ก็ถูกวางจำหน่ายในชื่อเดียวกัน โดยจะเน้นออกเฉพาะแต่ Mobile Suit แปลกๆ ที่มีความโดดเด่นจากในตัวเกมซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกวางจำหน่ายชุดใหม่ต่อจาก Crossbone Gundam X-2 ด้วย


ปี ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) Gunpla FG (First Grade)
ครบรอบ 20 ปีของกันดั้ม ในปีนี้โปรเจค Turn A Gundam ก็ได้อุบัติขึ้น และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือเรื่องของแมคคานิคดีไซน์ ซึ่งได้มีการเชิญ Syd MEAD (ซิก มี้ด) มือออกแบบแมคคานิคดีไซน์ชาวอเมริกาซึ่งโด่งดังมาจากการออกแบบแมคคานิคในภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner มาเป็นผู้ออกแบบให้ แม้ว่าจะรูปแบบของแมคคานิคที่ซิก มี้ดออกแบบมาจะมีความพิสดารเพียงใด บริษัท Bandai ก็ยังคงแปลงให้มันออกมาในรูปแบบ Gunpla ได้เสมอ ซึ่งนอกจากสินค้าจาก Series Turn A แล้ว ในปีนี้บริษัท Bandai ยังได้มีการเปิดตัวสินค้า Series ใหม่อย่าง HGUC (High Grade Universal Century) โดยสินค้า Series นี้จะเน้นการนำเอา Gunpla Scale 1/144 ที่เคยออกไปแล้วมาทำใหม่ ให้สามารถออกแอคชั่นได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะ Mobile Suit จาก Series Gundam Z และ Gundam ZZ ซึ่งในสมัยก่อนไม่สามารถทำได้มาทำการออกแบบใหม่ แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีการเน้นเฉพาะเจาะจงลงไปแบบนั้นมากนัก ขอแค่ว่าเป็น Mobile Suit ที่ขึ้นชื่อว่าปรากฏตัวในปีศักราชอวกาศ Universal Century (UC) ก็ได้ออกเป็น Gunpla Series นี้แล้ว

ในปีเดียวกัน Bandai ได้ผลิตสินค้าชุด 1/144 “เฟิร์สเกรด” หรือ FG (First Grade) RX78-2 Gundam โดยเน้นให้เป็นสินค้าราคาประหยัด ไม่มีการฉีดสีพลาสติกเพิ่ม (จะมีสีเดียวทั้งตัวกันพลา) แต่มีระบบสแนปฟิตเข้ามา และใช้ดีไซน์ของ Perfect Grade เข้าไปแทน
First Grade RX 78-2 Gundam Part
ปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) Gunpla High Grade and Gunpla Non Grade
เป็นปีเริ่มมีการฉาย Mobile Suit Gundam SEED มีกันพลาไลน์ใหม่ออกมา ทั้ง 2 ขนาดคือ “1/144 และ 1/100 นอนเกรด” (Non Grade) ที่มีคุณภาพระดับ HG ขยายส่วน แต่มีราคาถูกกว่า MG พอสมควร ทำให้ฐานแฟนๆ กันดั้มที่เพิ่มขึ้นจากการรับชมอนิเมะทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วยและไลน์ 1/100 นอนเกรด ก็ผลิตลากยาวไปจนถึง Series Gundam OO กันเลย
None Grade 1/100 Non Grade
ในปีดังกล่าว ก็มีกันพลา MG ระดับไฮไลท์ นั่นก็คือ MG 1/100 Rx78-2 Gundam Ver.2.0 ที่ถอดแบบมาจากอนิเมชั่นอีกด้วย

ปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) ศตวรรษที่ 21 ของบริษัท Bandai
บริษัท Bandai ได้ก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของกันพลา อย่างสมบูรณ์ ด้วยสินค้าที่ตอบสนองต่อแฟนๆ ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น แฟนๆ ที่ติดตามกันพลามาอย่างยาวนานก็จะเลือกซื้อ MG, แฟนๆ ที่อยากเก็บสะสม Mobile Suit Gundam ให้ครบจาก Series ที่ตัวเองชอบก็เลือกซื้อ HGUC ส่วนพวกแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลายก็จะเลือกซื้อ EX Model แต่นั้นก็ยังไม่พอที่จะเรียกได้ว่าเป็น กันดั้มแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริงดังนั้นในเดือนตุลาคมของปีนี้เอง Mobile Suit Gundam SEED Series ล่าสุดของกันดั้มจึงได้ออกอากาศทางทีวีอีกครั้ง ด้วยความมันที่ฮิตเปรี้ยงปร้างเหมือนระเบิดนาปาลม์หย่อนลงมากลางวงการอนิเมที่กำลังซบเซาและซ้ำซากไปด้วยการ์ตูนที่เน้น Character จนเกินพอดี ทำให้ บริษัท Bandai สามารถแตกไลน์สินค้าของ Series Mobile Suit Gundam SEED ออกมาต่างหากได้โดยไม่ต้องอิงกับของเก่าได้เลยแม้แต่น้อย ไล่ไปตั้งแต่กันพลา Scale 1/144 แบบพลาสติกฉีดสีเดียวสำหรับเด็กรุ่นใหม่หัดประกอบหลังจากที่ไม่เคยออกมานาน ไล่ไปจนถึง 1/100, HG SEED ก็ยิ่งทำให้โลกของ SEED ขยายกว้างขึ้นไปอีก

ปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) เจาะตลาดในประเทศอเมริกา
ทางบริษัท Bandai ได้เจาะตลาดในประเทศอเมริกา หลังจาก Series กันดั้มทั้งหลายเรื่องได้เข้าไปฉายจนได้รับความนิยมอย่างสูง Bandai จึงมีความคิดที่จะนำเอา Character กันดั้มเข้าไปเปิดตัวในอเมริกาบ้าง โดยทาง Bandai นั้นเลือกที่จะทำ Series ขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับประเทศอเมริกาซึ่งมีความนิยมใน Animation รูปแบบ CG โดยเฉพาะ ผลที่ได้จึงออกมาเป็น Animation CG เต็มรูปแบบอย่าง SD Gundam Force ซึ่งเป็นการนำเอาเรื่องราวของ SD Gundam ในญี่ปุ่นตั้งแต่ภาคอัศวินกันดั้มจนถึงมูชะกันดั้มมาปรับปรุงใหม่ และรวมกันจนกลายเป็นเรื่องใหม่ และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการทำออกมาเพื่อสนองตลาดในอเมริกา จึงไม่มีการทำของเล่นชุดนี้ออกมาในรูปแบบ Gunpla จะมีแต่แบบของเล่นสำเร็จรูปซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศอเมริกาเท่านั้น

ต่อมาเมื่อ Series Mobile Suit Gundam SEED จะจบลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Series Astray ซึ่งถือได้ว่าเป็น MSV ของ SEED ก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสานต่อกระแสของกันดั้มไม่ให้หยุดนิ่ง ซึ่งต้องยกย่องในความเตรียมพร้อมของ Bandai ด้วยการกระจายสื่อและแตกเรื่องราวของกันดั้มแอสเทรย์ทั้ง 3 เครื่องอันได้แก่ Red Frame, Blue Frame และ Gold Frame ไปตามสื่อในรูปแบบต่างๆ กัน คือ ฉบับการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับ Red Frame โดยตรงใน Mobile Gundam SEED Astray จะลงตีพิมพ์ใน Gundam ACE ,Mobile Suit Gundam SEED Astray R ลงตีพิมพ์ใน Shonen ACE, ฉบับนิยายที่เกี่ยวกับ Blue Frame โดยตรงลงตีพิมพ์ในหนังสือ The Sneaker และ นิยายซึ่งเป็นตัวเสริมเนื้อเรื่องในภาคอื่นๆ ทั้งหมดอย่าง Mobile Suit Gundam SEED Astray B ลงตีพิมพ์ในหนังสือ Dengeki Hobby Magazine ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดก็ดำเนินมาเรื่อยจนถึงภาคต่อเพื่อการฉลองครบรอบ 25 ปีของกันดั้มอย่าง Mobile Suit Gundam SEED Destiny ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) นั่นเอง

ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) Gunpla 1/48 Mega Size and Real Grade
ในปีนี้บริษัท Bandai ได้ก้าวข้ามเรื่องไซส์ของกันพลา ด้วยการออกสินค้าเกรดใหม่ 1/48 เมก้าไซส์ (1/48 Mega Size) ซึ่งเป็นกันพลาขนาใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีกันดั้ม โดยตัวแรกของไลน์ก็คือ 1/48 Rx 78-2 Gundam ซึ่งตัวกันพลาตัวนี้ได้เพิ่ม “นวัตกรรมการประกอบที่เหนือชั้นกว่า HG” ทั้งการแยกสี ดีเทล การประกอบที่ทำได้ง่าย แม้แต่มือใหม่ก็สามารถประกอบได้ หรือต่อให้ประกอบผิด ก็สามารถถอดออกมาประกอบใหม่ได้อย่างง่ายดายด้วยไอเทมที่มีมาในกล่องอย่าง “Separate” หรือ ตัวง้างชิ้นส่วน รวมไปถึงเกตที่บางมากจนสามารถหักได้โดยไม่ต้องใช้คีมตัดอีกด้วย

อีกตัวที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นก็คือ 1/144 เรียลเกรด RG ย่อมาจาก Real Grade โดยจะมีการรวบรวมเอาข้อดีหลายอย่างจาก เกรดอื่นๆ ทั้ง 3 เกรด คือ มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากและมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไปจาก HG มีความก้าวหน้าของเฟรมภายในตัวกันพลาแบบเดียวกับ MG และสุดท้ายมีจำนวนพาร์ทที่มากของ PG เรียกได้ว่าทำเทคโนโลยี V-Frame มาต่อยอด และใส่รายละเอียดในระดับ MG ลงไปในขนาด 1/144 ที่เล็กมากๆ

ปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557) ฉลองครบรอบ 35 ปี บริษัท Bandai
เป็นปีที่ฉลองครบรอบ 35 ปี กับการปล่อย MG 1/100 RX-78-2 Gundam Ver. 3.0 เป็นตัวที่เอาข้อดีของ MG และ RG มาใส่รวมกัน ทั้งข้อต่อแบบใหม่ ดีเทลรายละเอียด สติ๊กเกอร์แบบ “เตตรอนซีล” (สติ๊กเกอร์พลาสติกผิวด้าน) ถูกนำมาใช้ในเวอร์ชั่นนี้อีกด้วย

ในปีเดียวกันนี้ ยังมีสินค้าชุด 1/144 HG Revive ที่เป็นการออกแบบ HG ในส่วนของรูปทรงและจุดขยับใหม่อีกด้วย

ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) Gunpla RE/100 Reborn-One Hundred
บริษัท Bandai ได้มีการเปิดไลน์ 1/100 ขึ้นมาเพิ่มเติม กับ RE/100 หรือ “Reborn-One Hundred” ที่จะเป็นการเอา MS ที่มีอยู่ใน Side Story ตัวร้ายหรืออยู่ใน MSV มาทำในสเกล 1/100 แต่ดีเทลจะไม่เท่ากับ MG แต่จะออกมาในแนวทางของ HG รายละเอียดสูงมากกว่า ประมาณนอนเกรด Gundam SEED ที่เคยผลิตออกมาก่อนหน้านี้แล้ว
![RE/100 Series 1/100 MS-08TX[EXAM] Efreet Custom RE/100 Series 1/100 MS-08TX[EXAM] Efreet Custom](https://gunplastory.com/wp-content/uploads/re100-ms-08tx-exam-efreet-custom.jpg)
ในเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการฉาย Mobile Suit Gundam : The Origin ในรูปแบบของ ONA (Original Net Animation) สร้างโดยบริษัท Sunrise ออกฉายจำนวน 6 ตอน (ตอนสุดท้ายจบปี 2018) โดยมี อ. Yoshikazu Yasuhiko (โยชิคาซึ ยาสุฮิโกะ) เป็นผู้เขียนบทและออกแบบตัวละคร และยังมีการออกจำหน่ายในรูปแบบ Blu-ray สำหรับนักสะสมอีกด้วย


บริษัท Bandai ไม่ยอมให้ขาดตอนรีบออก Gunpla จากภาค Gundam The Origin ตัวแรกในเดือนเมษายน ทันที และ Gunpla ตัวที่ออกมานั่นก็คือ MS-06S Char’s Zaku II สีแดงฉานของท่านชาร์นั่นเอง

ต่อมาในช่วงปลายปีของปี 2015 นี้ ได้มีการฉาย Series Mobile Suit Gundam Thunderbolt ที่เป็นผลงานต้นฉบับมังงะที่แต่งโดย อ. Yasuo Ohtagaki เมื่อปี 2012 โดยมีทาง Sunrise เป็นผู้จัดทำ Mobile Suit Gundam Thunderbolt ฉบับอนิเมะและได้ถูกฉายออกมาในรูปแบบของ ONA (Original Net Animation) ฉายทาง PSN Network Japan Zone

ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) Gunpla HRM 1/100 High Resolution Model
เป็นปีที่บริษัท Bandai ได้เปิดตัวกันพลาไลน์ใหม่ ที่เป็นลูกผสมของสินค้าสำเร็จรูปและกันพลาคุณภาพสูงราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกันพลาขนาดอื่นๆ กับไลน์ 1/100 High Resolution Model – HiRM (ไฮ-เรสโมเดล) ที่ออกตัวแรกสุดของสายก็คือ Barbatos Gundam จาก Series Gundam Iron Blood Orphan ที่หลายๆ คนยังคงชั่งใจอยู่ว่าจะซื้อไม่ซื้อดี เพราะราคาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับ PG แต่ดีเทลก็สวยล้ำไปหลายขุม อีกนิดก็จะเป็น Metal Build แล้ว

ปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ.2561) Gunpla SD Gundam Cross Silhouette

บริษัท Bandai ได้ประกาศเปิดไลน์สินค้าใหม่ในกลุ่มของ SD Dundam ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีโครงใน (Inner Frame) ซึ่งทำให้เหล่า โมเดลเลอร์ (Modeler) อย่างเราต่างตื่นเต้นกัน โดยสินค้าไลน์ใหม่นี้มีชื่อว่า SD Gundam Cross Silhouette ที่นอกจากมีลักษณะพิเศษที่มีโครงในแล้ว ยังสามารถเลือกปรับเปลี่ยนโครงได้ในได้สองแบบได้แก่ โครงแบบ SD Frame ในอัตราส่วนเดิม และโครง Cross Silhouette ที่มีอัตราส่วนสมจริงขึ้นมาคล้าย ๆ กับ Nx อย่างไรก็ตามโครง CS ไม่ได้แถมมาในชุดสินค้าไลน์ใหม่ แต่เราต้องซื้อโครง CS แยกต่างหากครับ หรืออาจจะมีเป็นชุดในบางตัวอย่าง RX 78-2 Gundam

จวบจนถึงปัจจุบัน บริษัท Bandai ก็ได้มีการออกสินค้ากันพลาออกสู่ท้องตลาดต่อเนื่องทุกปี มีทั้งสินค้าที่ออกใหม่ สินค้า Restock ออกมาให้เราเหล่า โมเดลเลอร์ เลือกซื้อกันอย่างไม่ขาดสาย ทำให้พวกเราโมเดลเลอร์ต้องขยันตั้งใจทำงานกันอย่างหนักเพื่อเก็บเงินไว้ให้พร้อม เมื่อมีกันพลาออกใหม่ พวกเราจะได้เป็นเจ้าของได้เป็นกลุ่มแรกสนองตัณหาที่มีอยู่ในใจพวกเราไปอีกนานเท่านาน